หากใครได้ติดตามดูละครเรื่อง “ขอเกิดใหม่ใกล้ๆ เธอ” คงจะฟินจิกหมอนกันไม่น้อย เพราะนำแสดงโดย แอฟ ทักษอร (รับบทเป็นอรรพี) กับหนุ่มต่อ ธนภพ (รับบทเป็นทิชงค์ซึ่งเกิดใหม่มาเป็นเพื่อนกับ ‘ภาพ’ ลูกชายของอรรพี) ทั้งสองคนมีเคมีที่เข้ากันดีมาก ในละครทั้งคู่มีความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘รักต่างวัย’ ซึ่งความรักกำลังค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้นมากขึ้นทีละนิด แม้ว่าส่วนใหญ่เราจะไม่ค่อยพบเรื่องราวความรักของคนต่างวัยในละครไทยมากเท่าไหร่นัก แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นความรักที่กล่าวถึงนี้ เป็นประเด็นที่ค่อนข้างใกล้ตัวมากๆ และอาจจะกำลังตรงกับชีวิตใครบางคนอยู่อย่างแน่นอน
ในละครไม่ได้มีแค่ฉากที่สื่อถึงความกุ๊กกิ๊กชวนเขินเพียงเท่านั้น แต่เนื้อหาของเรื่องยังสามารถสิ่อถืงปัญหาที่เกี่ยวกับช่องว่างระหว่างวัยได้ค่อนข้างดี ซึ่งหากเราย้อนกลับมามองความเป็นจริง จะพบว่า ความต่างระหว่างอายุนั้นทำให้หลาย ๆ คู่มีปัญหากันจริงๆ และจำเป็นที่จะต้องใช้ความพยายามปรับตัวเข้าหากันพอสมควรกว่าที่ทุกอย่างจะลงตัว บางคู่ที่ปรับตัวกันไม่ได้ก็ต้องเลิกรากันไป เราลองมาเปรียบเทียบกันเล่นๆ ว่าปัญหาเหล่านี้มีอะไรกันบ้าง
ตัวอย่างอุปนิสัยทางฝั่งคนที่อายุน้อยกว่าที่อีกฝ่ายคิดว่าเป็นปัญหา
อาจจะมีนิสัยเอาแต่ใจ หรือไม่มีความเป็นผู้ใหญ่มากพอ ติดเพื่อน ตัดสินใจเองไม่ได้ อ่อนไหว เชื่อคนง่าย
ตัวอย่างอุปนิสัยทางฝั่งคนอายุมากกว่าที่อีกฝ่ายคิดว่าเป็นปัญหา
ชอบจู้จี้ ขี้บ่น ไม่ฟังความคิดเห็นเพราะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่กว่าต้องถูกเสมอ มุ่งเน้นเรื่องหน้าที่การงานจนอาจจะละเลยเรื่องส่วนตัว มีอะไรไม่ค่อยพูดเพราะคิดว่าตัวเองโตแล้ว จัดการเองได้
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งนิสัยของแต่ละคู่อาจจะสลับกันก็เป็นได้ แต่นั้นยังไม่หมด เพราะยังมีเรื่องที่มักจะเป็นประเด็นถกเถียงกันมากนั่นคือเรื่อง “หึงหวง” เพราะต่างคนต่างคิดว่า อีกฝ่ายสามารถหาคนใหม่ที่ดีกว่าตนได้เสมอ พอเห็นว่าใครใกล้ชิดสนิทสนมคนรักของตนก็มักจะออกตัว คิดในแง่ลบไว้ก่อน เรื่องนี้เกิดขึ้นได้กับทั้งสองฝ่าย ที่จริงแล้วหากทั้งคู่มีความไว้ใจซึ่งกันและกัน ความหึงหวงก็แทบจะไม่เกิดขึ้น
เรื่องของความรักนั้น อายุ ไม่ใช่ตัวกำหนด “ความสัมพันธ์” ดังนั้นจึงไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัวว่าใครเหมาะสมกับใคร หรือใครควรจะรักกับใคร มันขึ้นอยู่กับ “ความเข้าใจ” ระหว่างของคนสองคนมากกว่า
สิ่งที่ควรทำเพื่อรักษาความสัมพันธ์
1. รู้จักปรับตัวเข้าหากัน ไม่เอนไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินไป
2. ไม่ตามใจหรือทำให้อีกฝ่ายเคยตัวรับ ฟังเหตุผลของอีกฝ่าย ไม่ใช้อารมณ์ตัดสินปัญหา
3. เพราะประสบการณ์ชีวิตไม่เท่ากันจึงควรระมัดระวังเรื่องคำพูดให้มาก มีอะไรควรค่อย ๆ พูดค่อย ๆ จา ไม่ปล่อยให้เกิดความเข้าใจผิดเป็นเวลานาน
4. ไม่หูเบา เพราะหลายครั้งที่สังคมคนรอบข้างอาจจะไม่ชอบ หรือไม่ยอมรับ กลายเป็นฝ่ายยุแยงให้เข้าใจผิดกันได้ง่ายขึ้น
5. ช่วยกันวางแผนอนาคต อย่างน้อยก็จะช่วยให้ความมั่นใจกับอีกฝ่ายได้ว่าในภายภาคหน้าสองคนยังยังจับมือกันและกันอยู่ เรื่องวางแผนต้องช่วยกันทั้งคู่ดังนั้นอย่าผลักภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเพียงคนเดียว เพราะหากทำแบบนั้นสุดท้ายปลายทางจะไม่มีความหมายอะไรเลย
การจะรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาวได้นั้น “ความเข้าใจซึ่งกันและกัน” เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากสองคนจับมือกัน ร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรค ไม่ว่าปัญหาอะไรก็ไม่สามารถทำลายความสัมพันธ์ของคนสองคนได้ เรื่องรักต่างวัยก็จะกลายเป็นเพียงเรื่องความรักทั่วไปที่ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหรือเรื่องที่ไม่ควรอีกต่อไป