การแต่งงานเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตครอบครัว ครอบครัว คือ การที่เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวหรือรับผิดชอบแค่ตัวเอง แต่นั่นหมายถึง มีอีกหนึ่งชีวิตหรืออีกหลายชีวิตในอนาคตที่คนสองคนต้องช่วยกันดูแล การทำให้ครอบครัวมีความสุขและดำเนินไปอย่างราบรื่นเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง หนึ่งในนั้นหนีไม่พ้นเรื่องเงินๆ ทองๆ ถึงแม้เราจะบอกว่า “เงิน” ไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง แต่เงินก็เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ครอบครัวมีปัจจัย 4 ในการดำเนินชีวิตที่ดีตามมา…หลักการง่ายๆ ที่เรานำมาเสนอ ซึ่งบางข้ออาจทำได้บ้าง ไม่ได้บ้างในช่วงเวลาที่ต่างกันก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อมีความพร้อมเราก็ควรพิจารณาทำตามได้อย่างเหมาะสม
1.ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
จดบันทึกคำนวณเงินรายรับของคุณสองคนรวมกันต่อเดือนที่ได้มา เพื่อเป็นการคำนวณการใช้จ่าย หรือการเก็บออมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม การจดบันทึกรายจ่ายจะทำให้คุณรู้ว่า บางรายการเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่มากน้อยแค่ไหน และเห็นเงินคงเหลือได้อย่างชัดเจน เพื่อการวางแผนในขั้นต่อไป เพราะอย่าลืมว่าในอนาคตอาจมีตัวน้อยเพิ่มขึ้นมาในครอบครัว เงินคงเหลือเหล่านี้จะกลายเป็นเงินออมเพื่อขั้นต่อไปของการดำเนินชีวิต
2.วางแผนรายจ่ายประจำวันหรือรายจ่ายประจำเดือน
ค่าใช้จ่ายประจำที่ต้องเสียต่อเดือนมีค่าอะไรบ้าง ค่อยๆ จ่ายลดหนี้สินเก่าให้หมด (ถ้ามี) และพยายามไม่สร้างหนี้สินเพิ่ม อย่าติดนิสัยยืมเงินคนอื่นหรือบริการกดบัตรเครดิตต่างๆ ช่วงปลายเดือน ควรคำนวณดีๆ ว่าในแต่ละวันนั้นใช้เงินเท่าไหร่ แบ่งเงินที่ใช้จ่ายต่อวันให้ชัดเจน มีวินัยเสมอในการใช้เงิน รู้จักประมาณควบคุมตัวเอง เพื่อไม่ให้ใช้เงินรายจ่ายมากกว่ารายรับที่ได้มา
3.จัดสรรเงินออม
ด้วยการฝากเงินประจำต่อเดือนของทั้งคู่ พร้อมกับฝากเงินออมแยกในรูปแบบประจำให้ลูกน้อยของคุณ ตามกำลังอัตราเงินที่สู้ไหวและไม่เดือนร้อนเงินในส่วนอื่น เงินในส่วนนี้อาจนำมาหยิบใช้ได้ในยามฉุกเฉินจำเป็นจริงๆ แต่ไม่ควรเบิกพร่ำเพื่อ
4.ทำประกันชีวิตหรืออุบัติเหตุให้คนในครอบครัว
ในอนาคตเราคาดไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุฉุกเฉินอะไรบ้าง ที่ต้องเสียเงินจำนวนมาก การทำประกันบางอย่างสามารถช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายฉุกเฉินแทนเราได้ หรือช่วยลดค่าใช้จ่ายบางส่วนของเรา การทำประกันไว้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนการเลือกประกันแบบไหนนั้น ควรพิจารณาให้รอบครอบและเป็นประโยชน์กับเราที่สุด เลือกตัวแทนที่ไว้ใจได้ บริษัทประกันที่น่าเชื่อถือและเลือกจ่ายเงินประกันให้เหมาะสมกับฐานเงินเดือนภายในครอบครัว โดยไม่ให้กระทบการใช้จ่ายภายในของครอบครัวคุณ
5.แบ่งเงินส่วนที่เหลือจากค่าใช้จ่ายต่างๆ มาลงทุนกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เพราะการพึ่งแต่เงินออมอย่างเดียวคงไม่พอ อาจเริ่มจากการลงทุนในจุดเล็กๆ อย่างการขายของออนไลน์ หรือการลงทุนในรูปแบบ หุ้น ทองคำ กองทุนรวม แต่การที่จะเริ่มลงทุนสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนอย่าลืมว่าการลงทุนคือความเสี่ยงอย่างหนึ่ง
6.งดรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น
เวลาจะใช้สอยหรือต้องการสิ่งใด ควรคำนึงไว้เสมอว่าสิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนไม่จำเป็น มีการคิดตรึกตรองหรือปรึกษากันในครอบครัวก่อนทุกครั้งก็จะเป็นการดี แต่คุณก็ไม่ควรตระหนี่จนเกินไป ไม่ยอมใช้จ่ายเลย การสร้างความสุขด้วยการซื้อความสุขบ้าง เติมสีสันให้กับครอบครัวเดือนละครั้งหรือปีละครั้ง ตามสมควรไม่มากหรือน้อยจนเกินไปก็เป็นการดี เพื่อไม่ให้รู้สึกตึงเครียดกับการใช้จ่ายจนเกินไปนัก
อย่างไรก็ตามควรมีการปรับเปลี่ยนการวางแผนการเงินอยู่เป็นระยะๆ เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน รายรับอาจเพิ่มขึ้นในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็อาจเพิ่มขึ้นตามมา อย่างค่าเล่าเรียนลูกในอนาคต หรือเป้าหมายต่างๆ ที่ตั้งไว้ ครอบครัวจะได้ไม่มีปัญหาหรือขัดสนเดือดร้อนเรื่องการเงิน ที่สำคัญคนในครอบครัวควรมีวินัยในการใช้เงินอย่างมีสติ เรื่องเงินเรื่องใหญ่ แต่ถ้าวางแผนได้ดีก็จะกลายเป็นเรื่องเล็กที่จัดการได้หายห่วง