หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติขึ้นทะเบียนชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจน (Antigen Test Kit หรือ ATK) ซึ่งเป็นการตรวจ Rapid Test ชนิด Antigen ที่สามารถให้ประชาชนซื้อมาใช้ตรวจหาเชื้อ COVID-19 ได้เอง เพื่อให้ประชาชนรู้ถึงสถานการณ์การติดเชื้อของตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะเป็นการคัดแยกผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้นและให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที ทาง Bride จึงได้รวบรวมข้อมูลมาให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจให้ชัดก่อนว่า Rapid Test คืออะไร ใช้อย่างไร หากพบว่าติดเชื้อควรปฏิบัติอย่าไร เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติค่ะ
Rapid Test คืออะไร
Rapid Test คือ ชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็ว สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกันโควิด-19 ซึ่งใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10 – 30 นาที เร็วกว่าวิธีการตรวจแบบ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) ที่ใช้เวลาประมาณ 24 – 48 ชั่วโมง แต่การตรวจแบบ Rapid Test เป็นแค่เพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น ผลลัพธ์จะยืนยันได้ ก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธีการตรวจแบบ RT-PCR ที่โรงพยาบาลเท่านั้น
ถึงแม้ว่าการตรวจแบบ Rapid Test จะไม่สามารถยืนยันผลลัพธ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่แม่นยำได้ แต่ก็สามารถใช้คัดกรองในเบื้องต้น ชุด Rapid Test แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- Rapid Antigen Test (Antigen Test Kit) คือ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้วิธีการ Swab เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ที่บริเวณจมูกลึกถึงคอ เก็บจากลำคอ หรือเก็บจากบริเวณอื่น
- Rapid Antibody Test (Antibody Test Kit) คือ การตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยใช้วิธีการเจาะเลือดที่บริเวณปลายนิ้วหรือท้องแขน
ทั้งนี้ประเทศไทยอนุญาตให้ประชาชนซื้อมาใช้ตรวจเองได้ แค่ชุด Antigen Test Kit เท่านั้น ส่วน ชุด Antibody Test Kit อนุญาตให้ใช้ได้แค่ในสถานพยาบาล
มีของยี่ห้ออะไรบ้างที่ทาง อย. อนุมัติและรับรอง
สำหรับใช้โดยประชาชนทั่วไป (Home use) มีข้อมูลรายชื่อชุดตรวจและน้ำยาสำหรับโควิด ที่ได้รับการอนุญาตผลิตและนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีดังนี้
Antigen Test Kit ใช้งานอย่างไร
1.การเตรียมตัวก่อนทำการทดสอบ
- เตรียมถุงขยะติดเชื้อสำหรับทิ้งอุปกรณ์หลังการทดสอบ
- ล้างมือให้สะอาด แนะนำให้สวมถุงมือในขณะทำการทดสอบ
- ตรวจสอบส่วนประกอบของชุดตรวจ ได้แก่ คู่มือประกอบการใช้งานและคำแนะนำอย่างง่าย ตลับทดสอบ หลอดน้ำยาสกัดเชื้อและฝาจุก และก้านเก็บตัวอย่างตรวจสอบวันหมดอายุ
- เปิดซองตลับทดสอบและสารดูดความชื้น
2.การเก็บตัวอย่างในโพรงจมูก
- นำหลอดน้ำยาสกัดเชื้อและฝาจุกออกจากซอง
- ดึงฟอยล์หลอดน้ำยาสกัดเชื้อออก
- เสียบหลอดน้ำยาสกัดเชื้อไว้ที่รูสำหรับตั้งบนกล่อง
- เปิดซองก้านเก็บตัวอย่าง (อย่าสัมผัสปลายด้านที่คล้ายสำลีหรือแปรง และไม่จุ่มในหลอดน้ำยาหรือของเหลวอื่นก่อนเก็บตัวอย่าง)
- สอดก้านเก็บตัวอย่างในโพรงจมูกทั้ง 2 ข้าง
- หมุนก้านเก็บตัวอย่าง 5-10 รอบ (ความลึกและจำนวนรอบตามที่ระบุในคู่มือ)
3.การทดสอบตัวอย่าง
- จุ่มก้านเก็บตัวอย่างที่เก็บตัวอย่างแล้วลงในหลอดน้ำยาสกัดเชื้อ หมุนก้านเก็บตัวอย่างอย่างน้อย 5-10 ครั้ง ขณะหมุนให้บีบหลอดเป็นระยะ (จำนวนครั้งตามที่ระบุในคู่มือ)
- บีบด้านข้างของหลอดเพื่อดึงของเหลวออกจากอุปกรณ์ ขณะนำก้านเก็บตัวอย่างออก
- กรณีที่น้ำยาสกัดเชื้อกระเด็นโดนผิวหนังหรือเข้าดวงตาให้ล้างทันทีด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก
- ปิดหลอด โดยกดฝาจุกเข้ากับหลอดน้ำยาสกัดให้แน่น
- หยดตัวอย่างที่สกัดแล้วลงหลุมตัวอย่างบนตลับทดสอบ (จำนวนหยดตามที่ระบุในคู่มือ)
- เริ่มจับเวลา 15-30 นาที (ระยะเวลาตามที่ระบุในคู่มือ)
- อ่านผลการทดสอบ (ห้ามอ่านผลก่อนหรือหลังจากที่ระบุไว้)
4.การแปลผลการทดสอบ
- บนตลับทดสอบจะมีแถบสีปรากฏขึ้นมาตรงตำแหน่งควบคุม (C) และทดสอบ (T)
- ผลลบ (Negative): แถบสีปรากฏเฉพาะตำแหน่ง C
- ผลบวก (Positive): แถบสีปรากฏทั้งตำแหน่ง C และ T = 2 ขีด
- ไม่สามารถแปลผลได้ หากไม่มีแถบสีปรากฏตรงตำแหน่ง C
- ควรถ่ายรูปผลการทดสอบ พร้อมกับการระบุตัวตนบนตัวอย่าง และวันที่ทดสอบ
5.การทิ้งและทำลายชุดตรวจ
- ทิ้งชุดตรวจที่ทดสอบแล้วและอุปกรณ์ของชุดตรวจที่เหลือจากการใช้งานลงถุงขยะติดเชื้อ
- หากไม่มีถุงขยะติดเชื้อ ให้ทิ้งใส่ขวดน้ำที่ใส่น้ำยาฟอกขาว แล้วใส่ถุงปิดให้มิดชิด เขียนหน้าถุงว่าขยะติดเชื้อแทน
หากพบเชื้อควรปฏิบัติอย่างไร
ผลบวก (Positive) : หมายถึง “พบเชื้อ” ต้องแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อเข้ารับการตรวจยืนยันผลแบบ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง ระหว่างนั้นให้กักตัวเองแยกจากผู้อื่น สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ แยกห้องน้ำและของใช้ส่วนตัว สังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิประจำ ถ้ามีอาการหายใจลำบากควรติดต่อเข้ารับการรักษา รวมถึงแจ้งผู้ใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง ให้เข้ารับการตรวจเชื้อ
ผลลบ (Negative) หมายถึง ‘ไม่พบเชื้อ’ ในขณะที่ตรวจ หากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือมีประวัติเสี่ยง อาจอยู่ในระยะฟักตัว ควรทดสอบซ้ำอีกครั้ง 3-5 วัน และต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการจนครบ 14 วัน หากมีอาการทางเดินหายใจควรทดสอบซ้ำทันที หรือถ้ามีอาการตั้งแต่แรกควรตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ที่โรงพยาบาล และแยกตัวเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไว้ก่อน
การเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในช่วงเวลานี้ เป็นเรื่องที่ลำบากมาก ชุดตรวจ Antigen Test Kit จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ออกมารองรับปัญหาเหล่านี้ แม้จะไม่สามารถการันตีผลได้ แต่อย่างน้อยก็สามารถใช้คัดกรองเบื้องต้นได้ และทาง Bride หวังว่าข้อมูลชุดนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนนะคะ