ด้วยความที่คนไทยมีเชื้อสายจีนอยู่พอสมควร ทำให้งานแต่งงานแบบจีนเป็นหนึ่งในงานแต่งงานที่ได้รับความนิยมไม่น้อยเลย และสำหรับบ่าวสาวยุคใหม่ที่ต้องจัดงานแต่งงานแบบนี้แต่ไม่รู้ว่ามีขั้นตอน วิธีการยังไงบ้าง เราก็ได้รวมลำดับพิธีการแต่งงานแบบจีนมาให้แล้ว เพื่อจะได้เตรียมงานได้ถูกต้อง และงานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

สิ่งที่เจ้าบ่าวต้องเตรียม
โดยครอบครัวเจ้าบ่าวมีหน้าที่ต้องเตรียมเครื่องขันหมากและสินสอดทองหมั้นให้ครบ ดังนี้
- ส้มเช้ง จำนวนลูกส้มแล้วแต่ฝ่ายเจ้าสาวเป็นคนกำหนด แต่ต้องเป็นจำนวนคู่เท่านั้น ผลส้มที่นำมาจะต้องมีตัวหนังสือซังฮี้สีแดงติดไว้ทุกผล โดยเชื่อกันว่าจะมีความโชคดีเข้ามาในชีวิต
- กล้วย 1 เครือ ต้องใช้กล้วยดิบสีเขียวเครือใหญ่ ในหนึ่งเครือต้องมีจำนวนหวีเป็นเลขคู่เพื่อความมงคล ก้านเครือพันด้วยกระดาษสีแดง ส่วนผลกล้วยให้ติดตัวหนังสือสีแดงซังฮี้ไว้เช่นกัน สำเหตุที่ต้องใช้กล้วยทั้งเครือ เพราะชาวจีนเชื่อว่า คู่บ่าวสาวจะมีลูกหลานมากมายสืบเชื้อสายสกุล ที่สำคัญหลังเสร็จสิ้นพิธีมงคลสมรสแล้ว เจ้าบ่าวจะต้องนำกล้วยเครือนี้กลับบ้านไปด้วย
- ต้นอ้อย 1 คู่ ด้วยความที่น้ำอ้อยมีรสชาติที่หวาน ดังนั้น ต้นอ้อย 1 คู่นี้ จึงแสดงถึงความรักของคู่บ่าวสาวที่หวานชื่น
- ชุดหมูสด จะต้องจัดเตรียมชุดหมู 3 ถาด โดยชิ้นส่วนของหมูทุกชิ้นจะต้องติดตัวหนังสือซังฮี้สีแดง
-ถาดแรก ประกอบไปด้วย หัวหมู 1 หัว เท้า 4 ข้าง และหาง 1 หาง
-ถาดที่สอง ประกอบไปด้วย ขาหมูสด 4 ขา
-ถาดที่สาม ประกอบไปด้วย เนื้อหมูส่วนท้องของแม่หมู ที่เรียกว่า “โต้วเตี๊ยบะ” เพื่ออวยพรให้ฝ่ายเจ้าสาวท้องลูกผู้ชาย
- ชุดขนมหมั้นและขนมแต่งงาน (ขนมจันอับ) ทางเจ้าบ่าวจะต้องจัดชนิดและจำนวนชุดขนมหมั้นและขนมแต่งงานตามที่ทางฝ่ายเจ้าสาวกำหนดมา ซึ่งในพิธีแต่งงานจีนจะใช้ขนม 4 สี หรือที่เรียกว่า “ซี้เส็กหม่วยเจี๊ยะ” หรือบางบ้านจะใช้ขนม 5 สี ที่เรียกว่า “โหงวเส็กทึ้ง” ได้แก่
-ขนมเปี๊ยะโรยงา เพื่อความสิริมงคล
-ขนมถั่วตัด อวยพรให้คู่บ่าวสาวมีชีวิตที่ดี เจริญงอกงาม
-ขนมข้าวพองทุบ ขอให้มีแต่ความสุข ความเจริญ
-ขนมเหนียวเคลือบงา ให้ความรักของคู่บ่าวสาวเหนียวแน่นตัดไม่ขาด
-ขนมโก๋ หมายถึง ความร่ำรวย เงินทองไหลมาเทมา
- เงินสินสอดและทอง เงินสินสอดและทองนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายเจ้าสาวจะเรียกเท่าไหร่ โดยครอบครัวเจ้าสาวจะเป็นคนรับสินสอดไว้ ส่วนทองนั้นครอบครัวเจ้าสาวจะให้เจ้าสาวเก็บไว้และใส่ในพิธีแต่งงาน ทองที่ว่าไม่ใช่ก้อนทองคำแต่อย่างไร แต่หมายถึง ทอง 4 อย่าง ได้แก่ สร้อยทอง กำไลทอง เข็มขัดทอง และต่างหูทอง
- ของเซ่นไหว้บ้านเจ้าสาวควรเตรียมไว้ 2 ชุด สำหรับไว้เจ้าที่เจ้าทางและสำหรับไหว้บรรพบุรุษ โดยส่วนมากของเซ่นไหว้จะต้องประกอบไปด้วย ของคาว อาหาร 10 อย่าง ขนมหวาน ผลไม้ เหล้า ธูปเทียน และดอกไม้
เถ้าแก่นำขบวนขันหมากควรเรียนเชิญผู้ใหญ่ที่น่านับถือ และมีชีวิตครอบครัวที่ราบรื่นมีแต่ความสุข เพื่อความเป็นสิริมงคลสิ่งที่เจ้าสาวต้องเตรียม
ตามธรรมเนียมจีนแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวที่จะต้องไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว จะต้องเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ติดตัวไปด้วย รวมทั้งสิ่งของที่ต้องใช้ในงานพิธี ซึ่งมีดังนี้
- เอี๊ยมแต่งงาน เป็นเอี๊ยมผ้าแพรสีแดง มีกระเป๋าเล็กๆ ตรงอกเสื้อ ปักคำว่า “แป๊ะนี้ไห่เล่า” ซึ่งแปลว่า อยู่กินกันจนแก่เฒ่า
- เชือกแดงผูกเอี๊ยม ติดตัวหนังสือสีแดงซังฮี้ และมีแผ่นหัวใจสีแดงสำหรับติดเครื่องประดับเพชรหรือทอง
- ห่อเมล็ดพืช 5 ชนิด พร้อมเสียบปิ่นทอง และต้นชุงเฉ้า 2 ต้น ใส่ไว้ในช่องกระเป๋าเอี๊ยมแต่งงาน ซึ่งเมล็ดพืชนี้ สื่อถึง ความเจริญงอกงามและมีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
- พัดสีแดง ไว้สำหรับให้เจ้าสือตอนส่งตัว
- กล้วย 1 เครือ ใช้กล้วยดิบสีเขียวเครือใหญ่ ในหนึ่งเครือต้องมีจำนวนหวีเป็นเลขคู่เพื่อความมงคล ก้านเครือพันด้วยกระดาษสีแดง ส่วนผลกล้วยให้ติดตัวหนังสือสีแดงซังฮี้ไว้เช่นกัน หลังเสร็จงานพิธีแล้วยกให้ฝ่ายเจ้าบ่าวนำกลับบ้าน
- ส้มเช้งเขียว ตามจำนวนที่เป็นเลขคู่ ติดตัวอักษรสีแดงซังฮี้ทุกลูก หลังเสร็จสิ้นพิธีให้เจ้าบ่าวนำกลับบ้านเช่นกัน
- ชุดหมูสด โดยฝ่ายเจ้าสาวเตรียมแค่ถาดเดียว ภายในถาดประกอบไปด้วยหัวใจทั้งยวงที่มีทั้งปอดและตับติดไปด้วย หลังเสร็จพิธีแต่งงาน ฝ่ายเจ้าสาวจะแบ่งหัวใจหมูครึ่งหนึ่งให้กับเจ้าบ่าว เพื่อนำกลับไปทำอาหาร เพื่อสื่อถึงคู่บ่าวสาวมีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวกัน
- ของใช้ส่วนตัว ที่ต้องนำติดตัวไป ได้แก่ ถังน้ำสีแดง 2 ใบ กะลามังสีแดง 2 ใบ กระป๋องน้ำสีแดง 2 ใบ กระโถน ถาดสีแดง กรรไกร ด้าย เข็ม และกระจก อย่างละ 1 ชิ้น
- ชุดเครื่องนอน ถ้าเป็นสีแดงยิ่งดี ต้องเตรียมไปทั้ง ผ้าปูที่นอน หมอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม และหมอนข้าง อย่างละ 1 ชุด
- หวี 4 เล่ม ซึ่งคนจีนเชื่อว่าจะได้มีทรัพย์สินมากมายมหาศาล
- กาและถ้วยน้ำชา สำหรับทำพิธียกน้ำชา
- คนรับพานขันหมาก 2 คน
- คนกั้นประตูเงิน – ประตูทอง จำนวนเป็นคู่
- คนแจกของชำร่วย
- คนถือตะเกียงนำขบวนรถส่งตัวเจ้าสาว ซึ่งต้องเป็นญาติผู้ชาย เพื่อเป็นเคล็ดให้เจ้าสาวมีบุตรชาย
ลำดับพิธีแต่งงานแบบจีน
1.ดูฤกษ์แต่งงาน
สิ่งหนึ่งที่คล้ายกับการแต่งงานแบบไทยก็คือการดูฤกษ์งามยามดีนี่แหละค่ะ เพราะเป็นงานมงคลจึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษนั่นเอง โดยในส่วนของการเตรียมจัดงานแต่งพิธีจีน คุณพ่อคุณแม่จะนำวัน เดือนและปีเกิดของคู่บ่าวสาวไปให้ซินแสหาฤกษ์สำหรับจัดพิธีแต่งงาน หรืออาจจะรวมถึงวันรับตัวเจ้าสาว เมื่อได้วันที่แน่นอนมาแล้วทั้งสองฝ่ายก็ต้องเตรียมสิ่งของต่างๆ ในการออกเรือนและในขั้นตอนต่อไป
2.พิธีหมั้น และยกขบวนขันหมาก
เมื่อถึงฤกษ์งามยามดี ในวันหมั้นเจ้าบ่าวก็จะยกขบวนขันหมากไปที่บ้านของเจ้าสาว ซึ่งก็จะมีขั้นตอนคล้ายกับพิธีไทย ก็คือมีการกั้นประตูเงิน ประตูทองไว้ โดยเจ้าบ่าวต้องผ่านด่านนี้ไปให้ได้ หลังจากเจ้าบ่าวเจอเจ้าสาวแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนที่คุณพ่อคุณแม่ของเจ้าสาวตรวจสอบทองหมั้น เมื่อเรียบร้อยแล้วเจ้าบ่าวก็จะสวมแหวนหมั้นให้เจ้าสาว จากนั้นผู้ใหญ่ก็จะให้พรและเชิญแขกเหรื่อที่มาร่วมงานกินเลี้ยงกันเพื่อแสดงความยินดี
3.พิธีร่ำลาครอบครัวของฝ่ายเจ้าสาว
เมื่อถึงวันแต่งงานและส่งตัวเจ้าสาว จะเริ่มพิธีตั้งแต่เช้าโดยเจ้าสาวจะสวมชุดกี่เพ้าสีแดง ปักปิ่นเงิน ปิ่นทองและใบทับทิมที่แม่เจ้าสาวมอบให้ ห้ามใส่สีชมพูเด็ดขาด เพราะตามความเชื่อของคนจีนเห็นว่าเจ้าสาวแต่งงานเป็นครั้งที่สอง หรือไปเป็นเมียน้อยเจ้าบ่าวนั่นเอง หลังจากแต่งตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าสาวจะมาไหว้ฟ้าดิน ไหว้บรรพบุรุษและรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัว โดยพ่อหรือแม่จะคีบอาหารมงคลให้เจ้าสาวเพื่อเป็นการอวยพรให้กับลูกเป็นครั้งสุดท้าย สำหรับอาหารมงคลประกอบไปด้วย
-เส้นหมี่ อวยพรให้ลูกและคนรักมีอายุยืนยาวและรักกันยาวนานเป็นหมื่นๆ ปี
-ปลา ขอให้ลูกและคนรักมีกินมีใช้เหลือเฟือ
-ไก่ ขอให้ลูกและคนรักมีความกล้าหาญและเที่ยงตรง
-ตับหมู ขอให้ลูกและคนรักมีแต่ความเจริญก้าวหน้า
-หัวใจหมู ขอให้หัวใจของลูกและคนรักเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
-ไส้หมูและกระเพราะหมู ถ้าเจอการเปลี่ยนแปลง ก็ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี
-ปู ขอให้ทั้งคู่มีแต่ความขยัน คล่องแคล่วว่องไว
-เห็ดหอม ขอให้ชีวิตคู่หอมหวานเหมือนดั่งเห็ดหอม
-ผักกุ้ยช่าย ขอให้ทั้งคู่ครองคู่กันยาวนานตราบชั่วนิจนิรันดร์
-ผักเกาฮะไช่ ขอให้ลูกและคนรักเป็นคู่รักที่รักกันมาก
4.พิธีส่งตัวเจ้าสาว
เมื่อได้ฤกษ์ ทางเจ้าบ่าวจะเดินทางมาที่บ้านเจ้าสาว เพื่อรับตัวเจ้าสาวในระหว่างที่เจ้าสาวรอเจ้าบ่าวมารับอยู่นั้น จะนั่งถือพัดแดงรอเจ้าบ่าวในห้องและให้ญาติๆ เจ้าสาวเป็นผู้ต้อนรับเจ้าบ่าว เมื่อเจ้าบ่าวเข้ามาถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว จะต้องไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาว เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าตนเองและเจ้าสาวเป็นครอบครัวเดียวกัน จากนั้นเจ้าบ่าวจะเข้าไปรับตัวเจ้าสาว มอบช่อดอกไม้ให้ และนั่งรับประทานขนมอี๊สีชมพูด้วยกัน เมื่อทานขนมเสร็จ ทั้งสองจะกราบลาพ่อแม่ของเจ้าสาวเพื่อเดินทางกลับบ้านของเจ้าบ่าว โดยคุณพ่อจะเป็นคนพาเจ้าสาวขึ้นรถพร้อมอวยพร ส่วนญาติทางฝั่งเจ้าสาวที่เป็นคนถือตะเกียงสามารถนั่งรถไปคนเดียวกับเจ้าสาวหรือแยกไปคนละคันก็ได้ เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าวแล้ว ญาติผู้นี้จะนำตะเกียงไปวางไว้ห้องนอนของคู่บ่าวสาว พร้อมจุดทิ้งไว้ทั้งคืน เมื่อคู่บ่าวสาวเข้ามาในบ้านเรียบร้อยแล้ว คู่บ่าวสาวจะคำนับฟ้าดินหนึ่งครั้ง คำนับบรรพบุรุษหนึ่งครั้ง และคำนับกันเองหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าทั้งสองแต่งงานกันแล้ว ถือเป็นครอบครัวเดียวกัน
5.พิธีปูเตียงเรียงหมอนแบบจีน
พิธีนี้ก็จะมีคล้ายกับพิธีของไทย โดยพิธีปูเตียงเรียงหมอนแบบจีนจะให้คู่สามี-ภรรยาที่มีคุณธรรม มีลูกหลานอยู่ครบเป็นคนทำพิธีให้เหมือนกับของไทย และลำดับพิธีการจะคล้ายกัน แต่จะต่างตรงที่สิ่งของใช้ในพิธีนั่นเอง ซึ่งประกอบไปด้วย
-ผ้าปูที่นอนสีแดง
-หมอนหนุน 2 ใบพร้อมปลอกหมอนสีแดง
-ส้ม 4 ผล
-โหง่วเจ๋งจี้ ถุงใส่เมล็ดพันธุ์ 5 ชนิด พร้อมวางยอดทับทิมไว้ด้านบน
-แผ่นกระดาษอักษรมงคล ไว้สำหรับติดหน้าบ้าน หน้าห้องหอ และหัวเตียง
-ตัวอักษรซังฮี้สีแดงตัวใหญ่ สำหรับติดไว้ตรงหัวเตียงและกระจกโต๊ะเครื่องแป้ง
เมื่อทำพิธีปูเตียงเสร็จเรียบร้อย จะนำส้ม 4 ผลไปวางไว้ตรงมุมเตียง 4 ด้าน และอีก 4 ผลที่เหลือ วางไว้ในจานที่มีตัวอักษรซังฮี้สีแดงติดอยู่ จากนั้นนำไปวางไว้กลางเตียงพร้อมกับโหงวเจ๋งจี๊ แต่กระดาษซังฮี้ที่ติดไว้ตรงหัวเตียงและกระจกโต๊ะเครื่องแป้งอย่างเพิ่งเอาออก ให้เจ้าสาวเป็นคนแกะออกเมื่อกินเลี้ยงตอนค่ำเสร็จเรียบร้อยแล้วกลับเข้ามาในห้องหออีกครั้ง สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะถือเคล็ดว่า ถ้าในห้องหอมีกระจกเงาให้นำตัวอักษรสีแดงมาปิดไว้กันการสะท้อนเงาของหญิงอื่น เจ้าบ่าวจะต้องมีเจ้าสาวคนเดียวเท่านั้น
6.พิธียกน้ำชา
พิธียกน้ำชานี้มีคำเรียกในภาษาจีนว่า “พิธีซังเต๊” ซึ่งตามพิธีแบบดั้งเดิมจะจัดขึ้นในวันรุ่งขึ้น โดยพิธีนี้เป็นพิธีที่แสดงความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ญาติผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมพิธีจะต้องนั่งเรียงลำดับตามความอาวุโส โดยญาติฝ่ายชายจะอยู่ซ้ายมือและคนที่เป็นคู่สามี-ภรรยาจะต้องนั่งติดกันด้วยกัน เมื่อได้ฤกษ์พิธี คู่บ่าวสาวจะนั่งคุกเข่ารินน้ำชาใส่ถ้วยวางบนถาด แล้วใช้สองมือยกถาดขึ้นพร้อมกันเพื่อส่งให้ญาติผู้ใหญ่ เมื่อดื่มชาหมดถ้วยญาติผู้ใหญ่จะอวยพร พร้อมให้ซองอั่งเปาเป็นของขวัญ ส่วนคู่บ่าวสาวก็จะให้ของรับไหว้แก่ผู้ใหญ่ เมื่อเสร็จพิธียกน้ำชาแล้ว คู่บ่าวสาวจะนั่งทานขนมอี๊และบัวลอยด้วยกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่หวานชื่น
7.เยี่ยมบ้านเจ้าสาว
มาถึงพิธีสุดท้ายของการแต่งงานแบบจีนแล้ว หลังจากบ่าวสาวแต่งงานได้ 7 วัน หรือ 15 วัน จะต้องกลับมาเยี่ยมเยียนบ้านเจ้าสาว โดยครอบครัวเจ้าสาวจะต้องจัดเตรียมส้ม 12 ผล และให้ญาติผู้ชายของทางเจ้าสาวมารับคู่บ่าวสาวกลับไปเยี่ยมบ้าน เมื่อมาถึงครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวจะเลี้ยงต้อนรับเจ้าบ่าว เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวจะให้บ่าวสาวนำส้ม 12 ผลนี้กลับไปด้วย โดยให้นำไปวางไว้บนหัวเตียง และส้มนี้จะรับประทานได้เฉพาะบ่าวสาวเป็นเท่านั้น คนอื่นห้ามเด็ดขาด เป็นการทำตามความเชื่อว่าทั้งคู่จะได้มีลูกหลานมากมายเหมือนจำนวนผลส้ม
ทั้งหมดนี้คือลำดับพิธีการแต่งงานตามประเพณีจีนอย่างละเอียด จะเห็นว่ามีขั้นตอนมากมาย แต่ก็เต็มไปด้วยความหมายมงคลเช่นเดียวกับพิธีแต่งงานของไทย ซึ่งในยุค 2022 นี้ก็อาจจะมีหลายครอบครัวที่ปรับเปลี่ยนพิธีลงบ้าง เพื่อความสะดวกและเข้ากับสถานการณ์ สำหรับคู่รักที่กำลังเตรียมจัดงานอย่าลืมศึกษารายละเอียดให้ดี หรือปรึกษาผู้รู้นะคะ เพื่อให้งานออกมาน่าประทับใจ รวมทั้งเป็นการให้เกียรติญาติผู้ใหญ่ของเราด้วย