หลังจากก่อนหน้านี้มีประเด็นเรื่อง #คุณแม่ ของแตงโม ภัทรธิดา ให้สัมภาษณ์เรื่องเงินเยียวยาและกรมธรรม์ประกันชีวิตของแตงโม ทำให้เกิดเป็นกระแสวิจารณ์ จึงมีคนหยิบยกกฎหมายของเกาหลีใต้ ที่เรียกกันว่า กฎหมายคูฮารา มาเปรียบเทียบ ซึ่งหลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักกฎหมายคูฮารานี้ เราจึงนำข้อมูลมาแชร์กันอีกครั้ง
“กฎหมายคูฮารา” เป็นการตั้งชื่อตาม คู ฮารา (Goo Hara) นักร้องสาวชื่อดังวัย 28 ปี สมาชิกวง KARA ที่จบชีวิตตัวเองเมื่อปี 2562 ที่บ้านพักส่วนตัวเขตกังนัม คาดว่ามาจากความเครียดที่เธอเผชิญมานาน ทั้งเรื่องครอบครัวและข่าวอื้อฉาวกับอดีตแฟน ซึ่งผลการชันสูตรศพของเธอไม่พบอะไรผิดปกติ ไม่มีร่องรอยการต่อสู้ ทั้งยังพบจดหมายที่เขียนด้วยตัวเธอเอง โดยมีเนื้อระบายความอัดอั้นเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัวภายในครอบครัว
หลังการเสียชีวิตของคู ฮารา แม่ของเธอได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องมรดก และทรัพย์สินกว่าครึ่งหนึ่งของเธอ โดยอ้างว่าเป็นบุตรสืบทอดทางสายเลือดโดยตรง ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าคู ฮารา และพี่ชายเติบโตมาโดยการเลี้ยงดูของยาย น้า ส่วนแม่ทิ้งไปตั้งแต่หย่าร้างกับคุณพ่อนับสิบปี การเรียกร้องดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับสังคมอย่างมาก ต่อการกระทำของผู้ปกครองที่ทอดทิ้งการดูแลบุตร แต่เรียกร้องทรัพย์สินส่งผลให้เกิดคดีศึกชิงมรดกคูฮารา กระทั่งศาลมีคำตัดสินให้มารดาของคูฮารา ได้รับส่วนแบ่งมรดกที่ 40 ส่วนบิดาได้ 60 เมื่อเป็นเช่นนั้น พี่ชายของนักร้องสาวจึงยื่นคำร้องต่อรัฐสภาเกาหลีใต้เพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าวใหม่ โดยครั้งนั้นมีประชาชนชาวเกาหลีร่วมลงชื่อยื่นญัตติกว่า 1 แสนรายชื่อ ในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ส่งผลให้ร่างนี้ถูกผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาอย่างรวดเร็ว แม้จะไม่ผ่านการพิจารณาในการประชุมสภาในครั้งแรก แต่ร่างกฎหมายนี้ได้ถูกหยิบขึ้นกลับมาพิจารณาอีกครั้ง และสามารถผลักดันจนผ่านการพิจารณาของที่ประชุมสภาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 63 และประธานาธิบดีลงนามและมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 64

แม้ว่าจะสามารถผลักดันร่างกฎหมายได้สำเร็จ แต่ก็ไม่ได้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังต่อคดีจัดการมรดกของคูฮารา อย่างไรก็ตาม คูโฮอิน พี่ชาย มีความตั้งใจให้ “กฏหมายคูฮารา” เป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายแก่น้องสาวอยู่แล้ว เขาหวังว่ากฎหมายนี้จะสามารถช่วยเหลือหลาย ๆ คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับพวกเขาให้ได้รับความยุติธรรม แม้ว่ากฎหมายคูฮาราอาจจะเปรียบเทียบไม่ได้กับกรณีของแตงโม แต่ก็แสดงให้เห็นว่ากระบวนการทางกฎหมายก็คืนความยุติธรรมให้ได้เช่นกัน