ในงานมงคลอย่างพิธีแต่งงานตามประเพณีไทยให้ความสำคัญกับรายละเอียดในทุกขั้นตอน คนไทยมีความเชื่อและถือเคล็ดที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งคนรุ่นใหม่ในยุคนี้อาจไม่ได้ให้ความสำคัญแล้ว แต่ถ้าทำแล้วเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี ก็ไม่ได้เสียหายอะไรที่จะทำตามคนรุ่นก่อนๆ ทั้งนี้เพื่อให้การเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความมีสิริมงคล และครองคู่กับยืนยาวอย่างมีความสุข
1.ฤกษ์มงคล
เรียกได้ว่ามีฤกษ์ในทุกขั้นตอนในพิธีแต่งงานเลยทีเดียว ตั้งแต่เริ่มต้นเลย วันจัดงานแต่งงานก็ต้องเป็นวันที่เป็นมงคล มีข้อห้ามเรื่องวันจัดงานแต่งงานอีกหลายอย่าง ห้ามจัดวันอังคาร และวันเสาร์ เพราะเป็นวันแรง วันแข็ง เหมาะแก่ทำพิธีเกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง ห้ามจัดงานวันพุธ เนื่องจากดาวพุธเป็นดาวที่มีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เอาแน่นอนไม่ได้ เป็นตัวแทนของความลังเล ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่สมรสไม่ควรมี ห้ามแต่งงานวันพฤหัสบดี เพราะถือว่าเป็นวันครู ถ้าแต่งฝ่ายชายจะแพ้ทางฝ่ายหญิง ห้ามจัดงานวันพระ เพราะในอดีตพระสงฆ์จะทำวัดตั้งแต่เช้าจรดเย็นจึงไปควรนิมนต์พระไปทำกิจอย่างอื่น ห้ามจัดงานในวันอุบาทว์ ซึ่งต้องดูฤกษ์ทางโหราศาสตร์ เพราะแต่ละปีจะไม่ตรงกัน นอกจากนี้ยังมีฤกษ์ยกขันหมาก ฤกษ์รดน้ำสังข์ ฤกษ์ส่งตัวเข้าหอ ทุกขั้นตอนเน้นช่วงเวลาที่เป็นสิริมงคลหมด
2.ขบวนขันหมาก
ขบวนขันหมากจะต้องจัดสิ่งของเป็นคู่ๆ และนำขบวนด้วยผู้ใหญ่ที่เจ้าบ่าวนับถือและมีชีวิตคู่ที่ดี อยู่กันมายาวนาน เพื่อที่บ่าวสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ราบรื่นและยืนยาว ขบวนขันหมากห้ามเป็นหญิงหม้าย และเมื่อขบวนขันหมากมาถึงห้ามมิให้พ่อแม่ของเจ้าสาวเผชิญหน้ากับขบวนขันหมาก เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดการปะทะกันในอนาคต
3.เพื่อนเจ้าบ่าวเพื่อนเจ้าสาว
การเลือกผู้ที่จะมาเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาวไม่ใช่ให้ใครเป็นก็ได้ ให้เลือกคนที่กำลังจะมีงานแต่งงานในเร็วๆ นี้ อาจจะเพื่อให้ได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนต่างๆ ของพิธีแต่งงานก่อนจะมีงานของตัวเอง
4.จำนวนของพระสงฆ์
ในสมัยก่อนนิยมนิมนต์พระสงฆ์เป็นเลขคู่ แต่ปัจจุบันนิยมนิมนต์จำนวน 9 รูป เพราะเชื่อว่าเลข 9 พ้องเสียงกับคำว่า ก้าว ที่หมายถึงก้าวหน้า เมื่อรวมกับพระพุทธรูปก็จะ 10 เท่ากับเลขคู่เหมือนกัน
5.การสวมแหวน
เชื่อว่าหากเจ้าบ่าวทำแหวนหล่นหรือสวมแหวนไม่สุด ต้องให้เจ้าสาวช่วย จะทำให้เจ้าสาวมีอำนาจเหนือเจ้าบ่าวเป็นเรื่องที่ทำให้เจ้าบ่าวต้องมีความระมัดระวังขณะสวมแหวน
6.ทำบุญร่วมกัน
เชื่อกันว่าทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน จะทำให้มีวาสนาต่อกันได้เกิดมาเป็นคู่กันทุกชาติ ในพิธีแต่งงานจึงมีการตักบาตรของคู่บ่าวสาว มีเคล็ดว่าใครจับทัพพีอยู่เหนือกว่าจะมีอำนาจอยู่เหนืออีกฝ่าย โดยมากฝ่ายชายมักให้เกียรติฝ่ายหญิงโดยให้จับอยู่เหนือกว่า หรือผลัดกันจับ เพื่อเป็นการเสมอภาค
7.การรดน้ำสังข์
ความเชื่อเรื่องนี้ อยู่หลังการเสร็จสิ้นพิธีรดน้ำสังข์แล้ว หากใครลุกก่อนเชื่อว่าจะอำนาจอยู่เหนืออีกคนหนึ่ง ให้แก้โดยการพยุงให้ลุกขึ้นพร้อมกัน เปรียบเหมือนการประคับประคองชีวิตคู่ไปด้วยกัน
8.มงคลแฝดสวมศีรษะ
เป็นของมงคลที่เชื่อมโยงบ่าวสาวเข้าไว้ด้วยกัน จัดเป็นของสูงที่สวมอยู่บนศีรษะ ควรให้ผู้ใหญ่เป็นคนถอดให้ และเก็บไว้ในที่สูง
9.มาลัยคล้องคอ
เชื่อว่าต้องใช้มาลัยคู่เดียวกันทั้งในงานเช้าช่วงรดน้ำสังข์ และในงานพิธีตอนเย็น ห้ามเปลี่ยนเด็ดขาด จะทำให้มีชีวิตคู่ที่ราบรื่น จึงต้องเลือกใช้มาลัยที่มีความทนทานไม่เหี่ยวเฉาง่าย
10.การปูที่นอน
ในพิธีส่งตัวจะมีการปูที่นอน ผู้ที่ปูที่นอนต้องเป็นคนเฒ่าคนแก่ที่มีชีวิตคู่ที่ดี และลูกมีหลาน เพื่อความเป็นมงคลว่าคู่แต่งงานจะไม่มีครอบครัวที่อบอุ่นมีลูกหลานเต็มบ้าน
11.อาหารในงานแต่ง
การเลือกอาหารที่ใช้เลี้ยงแขกในงานแต่งงานก็ต้องให้ความสำคัญ อย่าเลือกอาหารที่มีชื่อไม่เป็นมงคลอย่าง ยำ ต้มยำ แกงบอน แกงหอยขม ของหมักดองและมีกลิ่นเหม็น อย่างปลาร้า ปลาแจ่ว เพราะความรักจะถูกดอง และเหม็นเบื่อเหม็นหน้ากัน อาหารกรอบที่แตกหักได้ หมายถึงความรักที่เปราะบาง ข้าวต้ม เพราะเป็นอาหารงานศพ อาหารชื่อมงคลที่นิยมใช้เช่น ขนมจีน เชื่อว่าความรักจะได้ยืนยาวเหมือนเส้นขนมจีน ห่อหมก จะได้รักใคร่ปรองดองกัน ลาบจะได้มีโชคมีลาภ และอาหารที่มีคำว่าทองในชื่อต่างๆ เช่นทองหยิบ ทองหยด ฝอยทอง
12.ห้ามทะเลาะวิวาทและมีของเสียหาย
เพราะถือว่าเป็นลางที่ไม่ดี หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวให้ทำเหมือนไม่รู้ไม่เห็น และนำพาออกจากงานไป เพื่อเป็นการแก้เคล็ด
แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ทำให้มีกำลังใจในการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวได้เป็นอย่างดี ทำตามก็เห็นไม่เสียหายตรงไหน อย่างน้อยก็ได้ความรู้สึกที่สบายใจว่าได้เริ่มต้นชีวิตคู่อย่างถูกต้องตามประเพณี