สินสอดเป็นธรรมเนียมประเพณีไทยที่เกิดจากกุศโลบายของคนในสมัยโบราณ เนื่องจากแต่เดิมหญิงชายไม่ค่อยได้มีโอกาศพบเจอ และศึกษาดูใจกันแบบในปัจจุบัน ส่วนมากแล้วการแต่งงานมักเกิดจากการคลุมถุงชน ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ ฝ่ายเจ้าสาวกลายเป็นหม้ายขันหมาก จึงมีการเรียก สินสอดทองหมั้น ไว้ไม่ให้ฝ่ายชายทอดทิ้งการแต่งงาน อีกทั้งยังเป็นหลักประกันว่า ฝ่ายชายสามารถเลี้ยงดูฝ่ายหญิงต่อไปได้ในอนาคต นอกจากนี้ในสมัยก่อนฝ่ายหญิงจำเป็นต้องพึ่งพาฝ่ายชายเป็นอย่างมาก เงินสินสอดจึงเปรียบเสมือนเครื่องการันตีความมั่นคงให้กับชีวิตของเจ้าสาว หากมีเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ฝ่ายหญิงจะได้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง
ในความหมายของสินสอดตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายของสินสอดว่า (น.) เงินที่ฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาหญิงที่จะแต่งงานเป็นค่านํ้านม ข้าวป้อน หรือ (กฎ) ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส
ส่วนในทางกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรค 3 ระบุว่า สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
แล้วสินสอดในปัจจุบันยังจำเป็นอยู่ไหม?
เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไปทำให้การแต่งงานแบบไทยในปัจจุบัน หลายบ้านยังคงยึดถือเรื่องสินสอดเหมือนเดิม แต่ก็มีการปรับประยุกต์ให้เข้ากับสภาพสังคมสมัยใหม่ อีกทั้งสมัยนี้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพในเรื่องต่าง ๆ เท่าเทียมผู้ชาย มีสิทธิ์ในชีวิตของตนเองมากขึ้น กล่าวคือในยุคที่ผู้หญิงมีสิทธิ์หลาย ๆ อย่างไม่แพ้ผู้ชาย รวมถึงพวกเธอทำมาหากินเลี้ยงตัวเองได้ สินสอดจึงอาจไม่จำเป็น เพราะไม่เหมาะกับบริบทสังคมปัจจุบัน
การแต่งงานในปัจจุบันเกิดขึ้นจากความสมัครใจของคนสองคน ทำให้มีคู่รักจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเก็บเงิน วางแผน และจัดงานแต่งงานกันเอง ส่วนเรื่องสินสอดก็มอบให้พอเป็นพิธีเท่านั้น จากเดิมที่ครอบครัวฝ่ายชายจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด เปลี่ยนมาเป็นบ่าวสาวขอรับผิดชอบร่วมกัน หลายคู่มองว่าสินสอดเป็นรายจ่ายฟุ่มเฟือย ก็เลือกที่จะตัดออกไปเลยก็มี