ใครที่ชอบเรื่องราวของประวัติศาสตร์ คงเคยรู้ข้อมูลกันมาบ้างแล้วว่า ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระมเหสีเทวี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม มากถึง 152 ท่าน ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมโบราณ รวมทั้งเป็นกุศโลบายที่ทรงใช้เพื่อสร้างฐานอำนาจ และสร้างสายสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างเจ้าเมือง แต่ก็คงทำให้หลายคนเกิดคำถามว่าแล้วสตรีคนไหน เป็นที่รักมากที่สุด หรือเป็นคนโปรดที่สุด? เรื่องนี้มีบันทึกไว้ว่าหนึ่งในเจ้าจอมหรือสนมคนโปรดนั้นมีนามว่า เจ้าจอมสดับ หรือ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ โดยมีของขวัญชิ้นสำคัญที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้ให้แก่เจ้าจอมสดับ ก็คือ “กำไลมาศ” ซึ่งเจ้าจอมสดับได้สวมไว้ไม่เคยถอดออกเลยเป็นเวลานานกว่า 76 ปี จนวาระสุดท้ายของชีวิต และเรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในตำนานรักในรัชกาลที่ 5 ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดอีกด้วย
เจ้าจอมสดับ นับว่าเป็นเจ้าจอมคนรองสุดท้ายในรัชกาลที่ 5 (เจ้าจอมคนสุดท้ายคือ เจ้าจอมแส บุนนาค) อีกทั้งยังเป็นคนสุดท้ายที่ได้ร้องเพลง ‘นางร้องไห้’ และเจ้าจอมคนสุดท้ายของราชวงศ์จักรีที่ยังดำรงชีพยาวนานมาถึงสมัยรัชกาลที่ 9 โดยท่านถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2526 อายุรวม 93 ปี
สำหรับประวัติของเจ้าจอมสดับมีการบันทึกไว้ว่า ท่านเกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2433 เป็นธิดาในหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ซึ่งเป็นพระโอรสใน กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับหม่อมช้อย ลดาวัลย์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม นครานนท์) เมื่อท่านมีอายุได้ 11 ปี หม่อมยายได้พาไปถวายตัวเป็นข้าหลวงในตำหนัก พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา นอกจากจะได้รับการอบรมงานฝีมือและเรื่องอาหารคาวหวานจนเชี่ยวชาญ ท่านยังได้เรียนหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติที่โดดเด่นด้วยก็คือน้ำเสียงอันไพเราะ ทำให้ได้รับเลือกให้เป็นต้นเสียงในวงมโหรี จนกระทั่งได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5
โดยมีบันทึกระบุไว้ด้วยว่า วันที่ท่านมีความสุขที่สุด คือ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449 เมื่อท่านได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าจอม ท่านได้รับพระราชทาน “กำไลมาศ” จากรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นกำไลทองคำแท้ เป็นรูปตาปูโบราณสองดอกไขว้กัน ปลายตาปูเป็นดอกเดียวกัน และบริเวณด้านบนของกำไลมีสลักบทกลอนพระราชนิพนธ์ในสมเด็จรัชกาลที่ 5 ไว้ว่า…
“กำไลมาศ ชาตินพ คุณแท้ ไม่ปรวนแปร เป็นอื่น ยั่งยืนสี
เหมือนใจตรง คงคำ ร่ำพาที จะร้ายดี ขอให้เห็น เช่นเสี่ยงทาย
ตาปูทอง สองดอก ตอกสลัก ตรึงความรัก รัดไว้ อย่าให้หาย
แม้รักร่วม สวมใส่ ไว้ติดกาย เมื่อใดวาย สวาสดิ์วอด จึงถอดเอย”
นอกจากกำไลมาศจารึกคำกลอนพระราชนิพนธ์ที่เป็นหลักฐานแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณแล้ว ท่านยังได้รับการเลื่อนขึ้นเป็น “พระสนมเอก” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2449 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน ทุติยจุลจอมเกล้า ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท แต่ไม่ว่าเจ้าจอมสดับจะได้รับเครื่องเพชรหรือของขวัญราคาสูงอีกหลายชิ้น แต่คงไม่มีชิ้นใดที่ทรงคุณค่าทางใจเท่ากับ กำไลมาส ซึ่งเจ้าจอมสดับไม่เคยถอดออกจากข้อมือเลยจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต โดยท่านถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2526 สิริอายุได้ 93 ปี จากนั้นหม่อมหลวงพูนแสง สูตะบุตร ผู้เป็นหลานสาว เป็นผู้ที่ถอดออกให้และได้ถวายกำไลมชิ้นนี้แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้าจอมสดับนั่นเอง และยังมีบันทึกสำคัญถึงเรื่องการถอดกำไลนี้ไว้โดยหม่อมหลวงพูนแสงด้วยว่า
“ถึงแม้ว่าคำกลอนที่จารึกไว้ในกำไลมาศจะลบเลือนไปตามกาลเวลา เพราะท่านสวมมาถึง 76 ปี แต่พระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์ ป.ร.” ที่จารึกไว้ด้านในท้องกำไลยังคงเป็นรอยจารึกที่แจ่มชัดดังเดิมจนน่าประหลาดใจมาก”
จากเรื่องราวทั้งหมดนี้ทำให้ กำไลมาศ กลายเป็นตำนานแห่งความรักของรัชกาลที่ 5 ที่มีต่อเจ้าจอมคนสำคัญ ได้รับการเล่าต่อๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก FB : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ , เรื่องเล่าของรอยใบลาน
ภาพ : ภาพเก่าลงสีใหม่ จากเพจ S. Phormma’s Colorizations , นิตยสารศิลปวัฒนธรรม